top of page
ค้นหา
  • รูปภาพนักเขียนบีเบนซ์

เล่นสแตนด์อัพคอมเมดี้ อย่างไร?

อัปเดตเมื่อ 4 ก.พ. 2564

บทความโดย: บีเบนซ์ - พงศธร ธิติศรัณย์ (Bebenz Pongsatorn)


0. ทุกอย่างต้องมี ‘สูตร’

แม้แต่เกม The Sim ยังต้องมีสูตร

เพื่อกดตังค์ได้เยอะๆ จะได้มีบ้านหลังใหญ่ ของใช้หรูๆ กว่าบ้านข้างๆ

หรือในเกมเพลสเตชั่น เราก็ยังต้องกดสูตร เพื่อจะชนะฝ่ายตรงข้ามได้


ใดๆ ล้วนต้องมีสูตร

การขายของก็มีสูตร การเขียนหนังสือก็มีสูตร สูตรคูณก็ยังมีสูตร

ขนาดการปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้า ยังมีธัมมจักกัปปวัตนสูตร


ที่ผมเขียนมาทั้งหมดนี้

ก็เพื่อจะบอกท่านว่าการเล่นสแตนด์อัพคอมเมดี้ ก็มี 'สูตร' เช่นกัน

จากที่ข้าพเจ้าได้ศึกษาสิ่งนี้ โดยใช้เวลานานกว่าผู้วิจัยแชมพูศึกษาเส้นผม ทั้งภาคพื้นยุโรป เอเชีย มหาสมุทรแอตแลนติก อลาสก้า กระทั่งหมู่เกาะกาลาปากอสก็ได้สูตรมาแบ่งปันผู้สนใจเพื่อศึกษากัน


แต่ต้องบอกเพื่อทำความเข้าใจว่า ผมมิใช่เป็นผู้คิดค้น

ผมเป็นเพียงผู้รวบรวมจากสิ่งที่ได้ดู ได้อ่าน ได้ฟัง ได้ศึกษามา

เป็นเพียงม้าเร็วนำสารบางอย่างมาไว้ในที่ตรงนี้


ดังรายงาน – ต่อไปนี้


1. แน่นอนว่าการขึ้นโชว์ของคอมเมเดี้ยนแต่ละคน ล้วนต้องมีบท

และบทที่ดี ก็มักจะมาจากเรื่องที่คอมเมเดี้ยน ‘อยากเล่า’ ความอยากบอกเล่าออกไป มีคุณูปการต่อเรื่องเล่ามหาศาล ความอยากกับความไม่อยาก มีเส้นแบ่งที่จะทำให้เรื่องออกมา สนุกหรือไม่สนุก


2. นอกจากบทที่เราอยากจะเล่า
อาจจะต้องมีเรื่องที่ผู้ฟัง 'น่าจะอยากฟัง' แกล้มลงไปด้วย

มันคล้ายกับการขายของที่เราถนัด อยากขายแต่ก็ต้องเป็นของที่ผู้บริโภคต้องการด้วย บทที่ผู้ฟังอยากฟัง บางทีมาจากเรื่องง่ายๆ อย่างการ ‘เกาะกระแส’หรือ การพูดถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น แล้วเราทุกคนกำลังรับรู้เรื่องนี้หรือ รู้สึกกับเรื่องนี้


ผู้ชมอยากฟังเรื่องที่เราทั้งหมดกำลังรับรู้ร่วมกันและเมื่อมีใครบางคนพูดสิ่งนั้นออกมาได้ดี ผู้ฟังมักจะพอใจ และตอบรับสิ่งนี้เพราะมีคนพูดออกมาแล้ว ในสิ่งที่ผู้ฟังอยากพูดเราจึงเหมือนได้ยกเรื่องที่รู้ร่วมกันนี้ ขึ้นชูให้เห็นด้วยกันทั้งหมดทุกคน


3. เรื่องเล่าที่ดี มักมาจากเรื่องที่เรารู้ และเข้าใจ

พี่โน้ส – อุดม เคยแบ่งปันเอาไว้ว่าให้เล่าเรื่องที่เรารู้ถ้าเรารู้แค่บางกะปิ ก็เล่าเรื่องบางกะปิ อย่าไปเล่าเรื่องที่เราไม่รู้อย่างอเมริกา เรื่องอเมริกาก็ปล่อยให้คนอื่นที่รู้เรื่องอเมริกาเป็นคนเล่าไป


เราก็เป็นเพียงคนที่เล่าเรื่องของเราเองเพราะเรื่องของเรา เรื่องที่เรารู้ เราจะเล่ามันออกมาได้โดยง่ายเพราะง่ายๆ ก็คือ ก็มันเป็นเรื่องของเราทั้ง ท่าทาง เรื่อง คำพูด อารมณ์ สีหน้า แววตา แววยาย

ทุกอย่างที่ใช้สื่อสาร จะออกมาจากตัวเราทั้งหมด แล้วคนดูจะรับรู้ได้ว่าเราอินแค่ไหนแม้ไม่ใช่ตาวิเศษ แต่คนดูเห็นทุกอย่างนะครับ


4. แนะนำให้ศึกษาวิธีการเล่าของบุคคลที่เราชื่นชอบหรือบุคคลที่เราเอาเป็นแบบอย่างในการเล่าของเราคือของมันต้องมี

เพราะมนุษย์เลียนแบบในขั้นแรก ปรับเปลี่ยนในขั้นสอง และกลายเป็นตัวตนในขั้นสามวิธีการที่หลายท่านใช้เรียนรู้คือการ ‘ดูแบบเลาะตะเข็บ’ พูดถึงตะเข็บ จะไม่พูดถึงเสื้อก็ไม่ได้การเลาะตะเข็บ คือการดูให้ลึกลงไปถึงวิธีการที่ใช้ในการตัดเสื้อหนึ่งตัว ขนาดเท่าไหร่ เย็บแบบไหน สีอะไร วิธีการที่ทำแบบไหน รวมถึงทำไมเราถึงชอบเสื้อตัวนี้ เสื้อตัวนี้สวยงามเพราะอะไรค้นหาคำตอบจากเสื้อที่เราเลาะตะเข็บออกมาหาคำตอบให้ตัวเองได้


คล้ายกับวิธีที่เราหาจากคอมมิเดี้ยนที่เราชื่นชอบ อาจเป็นใครก็ได้อาจเป็นพี่โน้ส อุดม , น้าเน็ก , พิง ลำพระเพลิง , อาจารย์คริส หรือในวงการเล่นเดี่ยวไมโครโฟน อย่าง ‘ยืนเดี่ยว’ เช่น โจ๊ก ไอศกรีม , โนะ นนทบุเรี่ยน , ตั้ม บรรทัดทอง แฟกส์ , คังโป้ย , เตย ดอนเมือง , เบนซ์ อาปาเช่ซันนี่ Hellgate , อาเธอร์ Gspotted , ปิ๊บโป้กตัญญู , เอ๋ ธีรพล


ชอบคนไหนก็ดูคนนั้นแบบการเลาะตะเข็บดูแบบศึอษาให้ลึกที่สุด และตั้งคำถาม ทำไมเราถึงชอบคนนี้ , เรื่องมันตลกเพราะอะไร , ทำไมเราหัวเราะให้กับเรื่องของคนนี้ เค้ามีวิธีการเล่าแบบไหน , น่าจะทำบทยังไง , แล้วเราสามารถนำสิ่งไหนจากเค้ามาใช้กับตัวเองได้บ้างหากเราสามารถเลาะตะเข็บจนตอบคำถามที่คาใจได้เราก็น่าจะสามารถเล่นได้ดีขึ้นและรู้จักตัวเองได้ดีขึ้นจากการเลาะตะเข็บในครั้งนี้


5.โดยส่วนตัวผมคิดว่า การดูสแตนด์อัพคอมเมดี้ หรือเดี่ยไมโครโฟนคล้ายกับการดูภาพยนตร์ แม้จะไม่ได้มีภาพเคลื่อนไหวให้ดู แต่วิธีที่คอมมีเดี้ยนเก่งๆ เล่า ได้ทำการสร้างภาพเคลื่อนไหวให้เกิดขึ้นในหัวเราเอง

ลองดูใจตัวเอง เวลาดูเดี่ยวไมโครโฟนเราสนุกกับเรื่อง เราอินกับเรื่อง เราหัวเราะไปกับเรื่องเพราะเราเห็นภาพที่ถูกเล่าออกมา เรารับรู้ความรู้สึกนั้น เราเข้าใจกันและกันเราเห็นสิ่งที่ผู้เล่าเผชิญในตอนนั้นเป็นภาพ


โดยการเล่าบรรยากาศ เล่าแบบมีคู่สนทนาพูดคุยกันเราได้รับรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส จากเรื่องราว

มีเสียงของสิ่งของ หรือสัตว์ ที่ถูกเล่าในเรื่องเราได้เห็นการสลับฉาก ตัดต่อ และสิ่งที่ต้องการจะสื่อสารออกมาจากเรื่องที่ถูกเล่าไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริง


เมื่อเป็นแบบนี้ อาจทำให้วิธีการเขียนบทของเราคมขึ้นจากวิธีที่เราออกแบบเรื่องเล่า ให้ผู้ชมได้รับทุกประสาทสัมผัส และเล่าแบบวิธีการของภาพยนตร์ ที่ดึงเราลงไปในนั้น




6.การแสดงสแตนด์อัพคอมมิดี้ ถ้ามีเทคนิคละครใบ้ด้วย น่าจะช่วยเสริมเรื่องเล่าให้อร่อยขึ้นได้เป็นอย่างดี

อาจเป็นเพราะการแสดงสแตนด์คอมมิดี้นนั้น ใช้พื้นที่ 'เวที' เป็นหลัก ไม่ค่อยมีใครใช้สถานที่เป็นทุ่งนา ห้องน้ำที่บ้าน หรือหอเอนปิซ่า จึงมักนำเสนอเรื่องราวบนเวทีกับไมค์หนึ่งตัวเป็นหลัก


วิธีการที่เล่าบนเวทีจึงมีผลต่อเรื่องการออกแบบวิธีใช้พื้นที่บนเวทีก็มีผลการเปิดตัวบนเวที การจบเรื่องราว และเดินออกการแสดงท่าทางบนเวที มีผลต่อเรื่องเล่าทุกสัดส่วนอย่างเท่าเทียมกัน


และเท่าที่ผมได้ดูสแตนด์อัพคอมมิดี้ทั้งไทย และต่างประเทศมาหลายๆ คนใช้เวทีแบบที่เรารู้เลยว่าเค้าออกแบบมาแล้วออกแบบในแบบที่เนียนจนเรารู้สึกว่าเค้าไม่ได้ออกแบบ – แต่ก็ถูกออกแบบมาแล้วเห็นวิธีการเล่าคือใช้ร่างกายได้คุ้มค่าบนเวทีแห่งนั้น การฝึกละครใบ้ จึงอาจช่วยให้เราเล่าได้สนุกมากขึ้น


7.และทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงส่วนเดียว – ส่วนเล็กๆ ที่น่าจะมีผลต่อเรื่องราวและอรรถรสที่คนดูได้รับ


อย่างไรก็ตามรายงานฉบับนี้ ที่ย้ำอีกทีว่า – ผมเป็นเพียงผู้รวบรวมมาไว้เท่านั้น ก็อาจทำให้บางท่านได้รู้เรื่องราวที่เพิ่งรู้เพิ่มขึ้นบ้าง หรือบางคนก็คงมารู้แล้วบ้าง ก็อยากจะบอกทุกท่านว่าอย่างไรก็ตาม ทุกอย่างมันก็มีสูตรแต่สูตรที่มี เราก็อาจไม่จำเป็นต้องใช้มันเลยก็ได้ บางที สูตรก็มีไว้แหกได้เหมือนกัน .



ดู 156 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page