top of page
ค้นหา
  • รูปภาพนักเขียนchayaneechl

ท่าทาง เรื่องเล่า และ การโหยหาความสุข : องค์ประกอบตั้งไข่ ของ Stand-Up Comedy

บทความโดย ชญามีน



แรงลมที่เคลื่อนออกมาจากปอด ถูกส่งผ่านกล่องเสียงออกมาอย่างอิสระ เป็นธรรมชาติไร้ซึ่งการควบคุม บ้างทุ้มต่ำ บ้างเล็กแหลม บ้างกรรโชก บ้างนวลหูน่าฟัง จากคนเป็นสิบ บางครั้งนับร้อย หรือบางคราวอาจนับพัน ดังสอดประสานขึ้นพร้อมกันเป็นท่วงทำนองครื้นเครง เมื่อมนุษย์คนหนึ่งซึ่งยืนอยู่บนเวทีว่างเปล่ากับไมค์เพียงแค่ตัวหนึ่งได้เล่าเรื่องธรรมดาแต่ไม่สามัญให้ฟัง ในวินาทีเดียวกันนั้นเองเสียงหัวเราะจากคนแปลกหน้าซึ่งล้วนมาจากต่างที่ต่างถิ่นต่างเพศต่างวัยได้เป็นทั้งสิ่งซึ่งแสดงการปลดเปลื้องความทุกข์ของผู้ฟังและรางวัลของผู้เล่า นี่ คือ ปรากฏการณ์ที่เราจะได้พบในการแสดงที่เรียกว่า‘Stand-Up Comedy’


‘Stand-Up Comedy’ ถ้าแปลตรงตัวตามคำศัพท์ที่มาประกอบกัน ‘Stand-Up’ ซึ่งแปลตรงตัวว่า ยืนขึ้น กับ ‘Comedy’ ที่แปลว่า ตลกขบขัน ไม่ว่าใครก็น่าจะสามารถอนุมานได้ว่า มันคืออะไรที่ต้องมีการยืนและน่าจะเกี่ยวข้องกับอะไรที่มันตลก ๆ ชวนหัวเราะ ซึ่งก็เป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะ Stand-Up Comedy คือ การเล่าเรื่องตลกขบขันจากนักแสดงเพียงคนเดียวที่มักจะยืนอยู่บนเวที ‘เดี่ยว ๆ’ เพียงลำพัง ส่วนมากจะไม่มีอุปกรณ์อะไรมาเสริม มีเพียงแต่ร่างกายที่ใช้ช่วยอธิบายเรื่องราวและมีท่าทางประกอบเพื่อเพิ่มสีสัน

อรรถรสทั้งหมดประกอบสร้างขึ้นมาจากน้ำเสียงและลีลาท่าทางส่วนตัวโดยแท้ ถ้าจะมีตัวช่วยอะไร ก็คงจะมีแค่ไมโครโฟนซึ่งเป็นเครื่องขยายเสียง อันเป็นตัวที่ทำให้คนนั่งแถวหลังได้ยินชัดถ้อยชัดคำเท่าคนที่นั่งแถวหน้าเท่านั้นเอง ถ้ายังนึกไม่ออก ว่า Stand-Up Comedyหน้าตาเป็นอย่างไร ชื่อภาษาไทยว่า ‘ยืนเดี่ยว’ หรือ อีกชื่อหนึ่งที่คุ้นหูกันแน่นอนคือ ‘เดี่ยวไมโครโฟน’ น่าจะทำให้คุณเข้าใจได้ในทันทีว่าการแสดงชนิดนี้มันคืออะไร



Stand-Up Comedy ก่อร่างขึ้นมาจากประวัติศาสตร์การแสดงตลกอันยาวนาน และค่อย ๆ พัฒนาขึ้นเป็นรูปแบบการแสดงแบบเดี่ยวไมโครโฟนแบบที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันนี้ตั้งแต่ในช่วงปี 1950 ถ้านับมาถึงตอนนี้ก็กว่า 70 ปีแล้วที่การแสดงนี้ยังคงมีอยู่ และดูท่าแล้วว่ามันไม่มีทางหายไปแน่ ๆ และนับวันมีแต่จะยิ่งพัฒนาขึ้น จากคนหลากหลายกลุ่ม

แล้วทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?

เพราะในโลกใบนี้ มักมีคนอยากเล่า และ เราหลายคนต่างอยากรู้ โดยเฉพาะเรื่องตลก


ถ้าจะอธิบายอย่างจริงจังเชิงวิชาการ

...เริ่มจากในมุมของผู้ชมก่อน ในวงการบันเทิงเรื่องตลกเป็นเรื่องที่ขายได้เป็นอันดับหนึ่งตลอดกาล เพราะ การได้ฟังเรื่องตลก จะทำให้เราหัวเราะ และการที่เราหัวเราะจะทำให้สมองหลั่งฮอร์โมนเอนโดรฟินซึ่งเป็นสารเคมีแห่งความสุขออกมา มีรายงานการวิจัยออกมาว่าการหัวเราะส่งผลให้สุขภาพดีเทียบเท่ากับการออกกำลังกาย นอกจากนี้ยังมีการค้นคว้าอีกว่า สารเอนโดรฟินช่วยทำให้ผู้คนรับมือกับอาการซึมเศร้าและจัดการกับภาวะวิตกกังวลได้ดีเท่า ๆ กับการกินยารักษาอาการจิตเวชเลยด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นไม่ว่าเมื่อไหร่ จะสมัยไหน มนุษย์ก็ต้องการเรื่องตลกเพราะเราขาดเสียงหัวเราะไม่ได้


ทีนี้มาถึงมุมของผู้แสดงหรือนักเดี่ยวไมโครโฟนกันบ้าง การแสดง Stand-Up Comedyหรือ เดี่ยวไมโครโฟน มันตอบสนองความต้องการของมนุษย์ตามแนวคิดทฤษฎีของ Henry Alexander Murray นักทฤษฎีจิตวิเคราะห์ผู้โด่งดังได้อย่างน้อยถึง 2 ข้อด้วยกัน คือ Need for Play และ Need for Exhibition

ขยายความให้เข้าใจง่ายขึ้นอีก, เมอร์เรย์บอกว่านอกจากความต้องการทางกายภาพแล้ว มนุษย์ยังมีความต้องการที่เกิดขึ้นจากแรงกระตุ้นภายในด้วย ทีนี้ Need for Play และ Need for Exhibition คืออะไร?

Need for Play คือ ความต้องการที่จะแสดงความสนุกสนาน ต้องการการหัวเราะและผ่อนคลายความตึงเครียดผ่านการสร้างหรือเล่าเรื่องตลกขบขัน ส่วน Need for Exhibition ก็คือความต้องการที่จะสร้างความประทับใจให้กับผู้อื่น ด้วยการให้คนอื่นได้เห็น ได้ยินเรื่องราวของตนเอง ต้องการให้มีคนมาสนใจ สนุกสนาน แปลกใจ หรือ ตกใจในเรื่องราวของตนเองที่ตนเองเป็นผู้ถ่ายทอด อะไรจะตอบสนองความปรารถนานี้ให้คุณได้เท่ากับขึ้นไปยืนคนเดียวเดี่ยว ๆ บนเวทีแล้วมีผู้ฟังรอบตัวจำนวนมากจับจ้องสายตามาที่คุณได้กันล่ะ?





แต่การจะไปยืนบนเวที เป็นนักพูดเดี่ยว นั้นมันไม่ง่าย โดยเฉพาะเมื่อผู้ชมมีภาพจำและมาตรฐานที่สูงลิ่ว เราต้องพูดแบบไหนถึงจะมีคนยอมจ่ายเพื่อมาฟังในสิ่งที่เราพูด เราจะเรียกเสียงหัวเราะจากผู้คนที่มาจากทั่วสารทิศได้ยังไง มันไม่ใช่แค่เรื่องเงินของผู้ฟังผู้ชมที่นักพูดต้องแบกรับ แต่มันคือความคาดหวัง อารมณ์และความสุขของผู้คนที่เขามารวมตัวกันเพื่อฟังคุณ


แน่นอนว่าเรื่องแบบนี้ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่เหนือสิ่งอื่นใดถ้าคุณเข้าใจโครงสร้างพื้นฐานตั้งต้นของการเดี่ยวไมโครโฟน อันประกอบไปด้วยทฤษฎีการเล่าเรื่องและทฤษฎีการสร้างความตลก มันอาจจะช่วยให้การก้าวเดินเข้าไปสู่วงการนี้ไม่ยากเย็นเกินไปนัก


เริ่มจากทฤษฎีเก่าแก่ของอริสโตเติล บุคคลผู้ถูกใช้อ้างอิงทั้งในวงการ การพูด การเขียน การแสดง อริสโตเติลบอกว่าการพูดต่อหน้าคนเยอะ ๆ มีส่วนประกอบสำคัญ 3 อย่าง อย่างแรกคือ ผู้พูด(Speaker) คำพูด(Speech) และผู้ฟัง (Listener) และการพูดจะประสบความสำเร็จเพียงใดขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 ข้อ คือ 1.ทัศนคติและความเชื่อ (Ethos) ซึ่งจะปรากฏเป็นบุคลิกลักษณะของผู้พูด, 2.ตรรกวิทยา (Logos) คือ เนื้อหาสาระ ข้อเท็จ จริงและหลักฐานต่าง ๆ ถ้าจะให้ดีก็ต้องเป็นชุดความคิดที่ต้องสอดคล้องกับทัศนคติ ความเชื่อและค่านิยมของผู้ฟังด้วย และสุดท้าย 3.ความรู้สึก (Pathos) คือ การใช้อารมณ์ หมายถึง สภาพอารมณ์ของผู้พูด และผู้ฟังที่มีร่วมกัน ซึ่งผู้พูดเป็นฝ่ายสร้างขึ้นเพื่อโน้มน้าวใจ ให้ผู้ฟังเกิดความชอบ ความเกลียด ความเจ็บปวด หรือความสนุกสนาน ก็แล้วแต่จุดประสงค์ของผู้พูด

นอกจากอริสโตเติลยังมีทฤษฎีการพูดที่น่าสนใจอีกอันหนึ่งคือ ทฤษฎีของซิเซโรและควินติเลียน (Cicero & Quintelian Theory) ทฤษฎีชุดนี้จะเน้นไปในทางปฏิบัติและฝึกฝนมากขึ้น ถือว่าเป็นการต่อยอดจากทฤษฎีของอริสโตเติลอีกทีหนึ่งนั่นเอง

ซิเซโรและควินติเลียน บอกว่าการพูดจะได้ผลเมื่อทำตามลำดับ 5 ข้อดังต่อไปนี้ คือ เริ่มจากการ คิดค้น(Invention) คือ คิดว่าอะไรคือเป็นสิ่งที่ควรพูดกับผู้ฟังมากที่สุด จากนั้นมาสู่ข้อ 2. คือ การประมวลความคิด (Organization) เอาความคิดมาจัดระเบียบและจัดลำดับให้เหมาะสม โดยใช้โครงร่างเบสิคในการเล่าเรื่องก็คือแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ส่วน คือ นำ-เนื้อเรื่อง-สรุป นั่นเอง ต่อมา ข้อ 3. เป็นการใช้ภาษาและลีลา (Style) หมายถึง การเลือกภาษาและลีลาในการนําเสนอสาระที่สร้างความเข้าใจให้แก่ผู้ฟังให้รู้สึกอยากติดตาม, ข้อ 4 กำหนดจดจำ (Memory) หมายถึง การฝึกฝน จดจำเนื้อหาให้แม่นยำก่อนจะออกไปพูด ไม่เอ่อ อ่า หรือ ตะกุกตะกักต่อหน้าผู้ชม ต้องเตรียมความพร้อมสร้างประสบการณ์การพูดกับตัวเองให้คล่อง และสุดท้าย ข้อ5 คือ การแสดงออกให้ปรากฏ (Delivery) หมายถึงการแสดงออกให้หมาะสมที่สุด ก็คือใช้ทุกข้อมารวมร่างจนตัวเองพร้อมที่จะไปปรากฎตัวต่อหน้าสาธารณะชนนั่นเอง

ถึงแม้ว่า 2 ทฤษฎี การพูดนี้จะมีต้นกำเนิดเก่าหรือดูแก่มากขนาดไหน และแม้ว่าพัฒนาการของเทคโนโลยีการสื่อสารจะรุดหน้าไปอย่างไร มันก็ยังเป็นทฤษฎีที่จับต้องได้และนำมาฝึกฝนได้จริง ๆ ในยุคนี้ และเชื่อว่าในโลกยุคหลังโควิดทฤษฎีนี้ก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นที่นักสื่อสาร, นักพูด, นักเล่าเรื่องประเภทต่าง ๆ ยังคงต้องเรียนรู้และนำไปเป็นหลักตั้งต้นในการฝึกฝนอยู่ดี


จบจากทฤษฎีการพูด มาต่อกันที่องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในการที่จะเป็นนักเดี่ยวไมโครโฟน...การเข้าใจในการสร้างความตลก


ตลอดเวลาที่โลกใบนี้ดำรงอยู่ มีผู้คนมากมายพยายามอธิบายความตลกหรือสร้างทฤษฎีการสร้างอารมณ์ขันขึ้นมามากมาย ทฤษฎีที่เห็นว่าน่าสนใจเป็นทฤษฎีที่เกิดขึ้นในช่วงยุคสมัยใหม่ (Modern Age) มีอยู่ 3 ทฤษฎีด้วยกัน คือ ทฤษฎีความไม่เข้ากัน (incongruity theory), ทฤษฎีความเหนือกว่า (superiority theory) และ ทฤษฎีอรรถบทแห่งอารมณ์ขัน (script-based semantic theory of humor)


มาดูกันอย่างคร่าว ๆ ว่าแต่ละทฤษฎีนักวิชาการเขาอธิบายกันว่าอย่างไรบ้าง

ทฤษฎีความไม่เข้ากัน (incongruity theory) ทฤษฎีนี้มาจากการที่นักวิชาการมองว่าอารมณ์ขันของคนเราเกิดจากการรับรู้ถึงความไม่เข้ากันของสิ่ง 2 สิ่ง คือ สิ่งที่เราคาดหวังไว้กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง เช่นในการเดี่ยวครั้งหนึ่งของ โน้ส อุดม มีการลองแต่งหน้าทาปากบนเวที เป็นการจำลองพฤติกรรมของผู้หญิง ที่เวลากรีดอายส์ไลน์เนอร์ต้องมีการหรี่ตา เผยอปาก เมื่อวิเคราะห์ตามมุมมองของทฤษฎีความไม่เข้ากันแล้ว จะสามารถอธิบายได้ว่า สาเหตุที่ผู้ชมเห็นสถานการณ์ดังกล่าวแล้วรู้สึกตลกขบขัน เนื่องจากการแสดงนั้นสะท้อนคาแรคเตอร์ที่ไม่เข้ากันของโน้ส อุดม ในลุคผู้ชายแต่งตัวเรียบ ๆ ไม่มีสีสันบนหน้าแบบที่ผู้ชมคุ้นเคย มาพยายามสวมบทบาทเลียนแบบผู้หญิงสาวในแบบที่ผู้ชมไม่เคยเห็นมาก่อน และมันเป็นภาพที่ไม่เข้ากัน จึงทำให้อดไม่ได้ที่จะตลกจนหัวเราะออกมา


ทฤษฎีความเหนือกว่า (superiority theory) นักวิชาการอธิบายว่า เป็นอารมณ์ขันของมนุษย์มีที่มาจากความรู้สึกว่าตนเองมีชัยชนะ หรือรู้สึกถึงความเหนือกว่าผู้อื่นของตัวเองเมื่อนำบุคคลเหล่านั้นมาเปรียบเทียบกับตนเอง เช่น พ่อแม่เกิดความรู้สึกขำคำพูด,การกระทำที่ขาดประสบการณ์ของลูกหลาน หรือ เวลาเราไปไหนกับเพื่อน แล้วเพื่อนแสดงอาการเปิ่น ๆ แปลก ๆ ออกมา เราก็จะรู้สึกตลก คือ เป็นความขบขันบนความไม่รู้ของคนอื่นนั่นเอง


“ทฤษฎีอรรถบทแห่งอารมณ์ขัน” (script-based semantic theory of humor หรือ SSHT) (Raskin, 1985) ทฤษฎีนี้มีความเกี่ยวเนื่องหลายอย่างกับทฤษฎีความไม่เข้ากัน รัสกิน (Raskin, 1985) นักวิชาการผู้นำเสนอทฤษฎีนี้ อธิบายถึงที่มาของอารมณ์ขันตามมุมมองทางอรรถศาสตร์ ซึ่งมีชื่อภาษาอังกฤษว่า semanticsหรือแปลไทยเป็นไทยอีกทีก็จะหมายถึง ความหมายที่มนุษย์ใช้สื่อสารทางภาษา รัสกินมองว่าเรื่องตลกมักเกิดขึ้นจากการใช้รูปภาษาที่มีความหมายกำกวม (ambiguity) และมีความขัดแย้ง (contradiction) เรียกว่า “ความขัดแย้งของตัวบท” (script opposition)

เช่น วันหนึ่งคุณยายคนหนึ่งเดินออกมาที่หน้าบ้านของตัวเอง ชะเง้อไปข้างหน้า รออยู่ครู่หนึ่งเมื่อมีรถแท็กซี่มาก็รีบโบกทันที แท็กซี่จึงจอดแล้วถามคุณยายว่า “จะไปไหนเหรอครับ ยาย” ยายก็ตอบว่า “ไม่ได้ไปไหนหรอกพ่อหนุ่ม ลงมาช่วยยายขนของหน่อยสิ ยายอยู่บ้านคนเดียวยกของไม่ไหว” คนขับแท็กซี่ได้ยินก็ได้แต่ทำสีหน้างุนงงแล้วตอบว่า “โอ๊ย ไม่ได้หรอกครับยาย ผมยุ่งเดี๋ยวต้องไปรับผู้โดยสารอีก” ยายจึงตอบว่า. “ยุ่งอะไร ก็เห็นเขียนไว้ที่หน้ารถ ว่า ‘ว่าง’ ”


ทฤษฎีที่ว่ามาทั้ง 3 ทฤษฎีนี้เป็นเพียงส่วนเล็กน้อยจากแนวคิดการสร้างความตลกขบขันทั้งหมด ยังมีแนวคิดอีกมากมายที่ให้เลือกเรียนรู้ และไม่ว่าจะเลือกใช้แนวคิดหรือทฤษฎีไหน สิ่งสำคัญน่าจะเป็นการหาหรือการสร้างพื้นที่ประสบการณ์ร่วมกันระหว่างผู้แสดงและผู้ชมก่อน ถ้าผู้แสดงหรือนักพูดเดี่ยวไมโครโฟนไม่มีความเข้าใจบริบทเชิงกายภาพและเชิงสังคมของผู้ฟังเลยความตลกขบขันก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็เหมือนกับเวลาที่เราไปดูหนังฝรั่งสักเรื่อง แล้วผู้ชมชาวต่างประเทศขำกันเกรียวแต่เราเหล่าคนไทยนิ่งสนิทนั่นแหละ เราไม่ตลกเพราะเราไม่เข้าใจความขบขันที่เขาสื่อสารนั่นเอง


ตั้งแต่ต้นจนถึงบรรทัดนี้ ทุกสิ่งที่ไล่เรียงมา เป็นการรวมตัวขององค์ประกอบที่ไม่ว่าอีกกี่ร้อยปี AI ก็ไม่มีทางทำได้...‘Stand-Up Comedy’ เป็นเรื่องของมนุษย์อย่างเราเท่านั้นแหละ


สุดท้าย ถ้าคุณอยากเป็นนักพูดเดี่ยวขอให้บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในการตั้งต้นหาแนวทางสร้างแนวทางความตลกขบขันให้เหมาะกับตัวเอง หวังว่าเราจะได้ฟังคุณเดี่ยวสักครั้งในวันหนึ่ง แต่ถ้าคุณชอบที่จะเป็นผู้ฟัง เจอกันในยืนเดี่ยวครั้งหน้า


...ไม่แน่ว่าเราอาจจะนั่งหัวเราะอยู่ข้าง ๆ กัน

ดู 515 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Комментарии


bottom of page