top of page
ค้นหา
  • รูปภาพนักเขียนบีเบนซ์

คุยมีเดี้ยน: คุยกับ 4 คอมเมเดี้ยน เรื่อง 'สแตนอัพคอมเมดี้'

อัปเดตเมื่อ 30 มี.ค. 2564

สัมภาษณ์โดย : บีเบนซ์ (Bebenz Pongsatorn)


เกริ่นก่อนว่า

คุยมีเดี้ยน คือ การคุยกับคอมเมเดี้ยน 4 คน

ชีวิตก่อนเข้ามาทำการแสดงสแตนด์อัพคอมเมดี้

การเข้ามาทำสแตนด์อัพคอมเมดี้ครั้งแรก

และ นิยามความตลก


นี่เป็นการสัมภาษณ์ 4 คนแรก ประกอบไปด้วย:

กตัญญู สว่างศรี / แฟกส์ / คังโป้ย / และ โนะ นนทบุเรี่ยน

ถ้าพร้อมแล้ว จงเลื่อนลงไปข้างล่าง


กตัญญู สว่างศรี

ก่อนมาเล่นสแตนด์อัพคอมเมดี้ ทำอะไรมาก่อน

ทำเอเจนซี่ ทำคอนเทนท์มาร์เก็ตติ้ง จัดพอตแคส ถ้าจะอะไรนำทางมาสแตนอัพคอมเมดี้ก็การทำพอตแคส สัมภาษณ์คนสนุกๆ แล้วก็จัดมีตติ้งงานเกี่ยวกับการพูดสนุกๆ หลังจากนั้นเห็นแนวทาง แบบนี้น่าสนุกดี


ประมาณช่วงอายุ 28 เคยไปบรรยายที่เชียงใหม่ ไปเป็นพิธีกร ให้สำนักพิมพ์อะบุ๊ค (a book) จะเอานักเขียนไปบรรยาย คนที่จัดงานเป็นเพื่อนกันบอกวาเวลาเหลือ 45 นาที อยากทำอะไรมั้ย ก็คิดหัวข้อบรรยายเรื่อง 'ฟรีแลนซ์นะ' ก็คิดเรื่องไปเล่า มันกึ่งความรู้เชิงประสบการณ์ กึ่งสนุก จำได้ว่าจบโชว์นั้น เหมือนจุดประกายว่า รูปแบบสแตนด์อัพคอมเมดี้ก็เหมาะนะ เราน่าจะทำได้ แต่ก็ยังไม่ได้ทำสักที


ผ่านมาปีสองปีเลยโพสเตตัสหาทีมงาน เจอแฟกส์ ประชุมกัน จะจัดที่ร้านกาแฟเซ็นทรัลพระราม 9 รู้สึกยิ่งใหญ่มาก จำได้เลย เดินไปบอกพนักงานว่าเอาตั๋วมั้ย เค้าก็งงๆ (หัวเราะ)

เขียนบท ‘ฟรีแลนซ์นะ’ ยังไง

เขียนเป็นบุลเล็ทเอาไว้ เช่น ก็มีเรื่องการเป็นฟรีแลนซ์ต้องกระปรี้กระเปร่ากับลูกค้าตลอดเวลา บางทีลูกค้าโทรมาอย่างเช้า เสียงไม่ได้เลย ก็ต้องแบบเสียงสดชื่น สดใส สวัสดีครับ (หัวเราะ) ตื่นมางัวเงีย แต่ลูกค้าโทรมาเสียงใสแจ๋วเลย พร้อมคุยครับ ต้องเอาหน้าหลบพัดลม ก็ลิสต์เป็นบุลเล็ทเอาไว้ ไม่เชิงฟีลสแตนด์อัพ แต่เป็นการด้นสดเอาหน้างาน นำไปด้วยสาระ คนฟังได้ประโยชน์ แต่การเล่นแสตนด์อัพเราไม่ใช่แบบนั้น เราโฟกัสประโยชน์ของความสนุก แต่หลังๆ โฟกัสสาระง่ายกว่า (หัวเราะ)

การทำสแตนด์อัพครั้งแรก มั่นใจได้ยังไงว่าทำได้

ไม่เคยมั่นใจเลยว่าจะเวิร์ค แต่แน่ใจว่าจะทำ เป็นการทดลอง ชีวิตนึงลองสักที


ตอนทำตอนนั้นไม่มีหน้าใหม่ ไม่มียืนเดี่ยว มีแต่สุดยอดในประเทศนี้เท่านั้นที่เล่นสแตนด์อัพ อยู่ๆ ก็ทำไซส์เล็กขึ้นมา ไม่ได้คิดว่าทำแล้วตลกหรือประสบความสำเร็จที่สุด คิดแค่ว่าเป็นประสบการณ์แบบใหม่ที่จะได้รับ มองเป็นความท้าทาย เป็นเวทีเล็กที่โคตรใหญ่ สร้างเป้าหมายที่บรรลุด้วยการลงมือทำ เมื่อได้ทำแล้วก็สำเร็จในแบบเราแล้ว ตอนเล่นก็มีการซ้อม มีความคาดหวัง


ย้อนกลับไปโคตรเท่เลย เราเป็นคนอายุสามสิบที่โตรเท่เลยที่ทำแบบนั้น ชมตัวเอง (หัวเราะ)

เล่นครั้งแรกจบ เป็นยังไง

เงียบ บทอะไรที่เตรียมมาไม่เวิร์คเลย


จำได้ว่าตอนซ้อมที่ร้าน Zombie Books ข้างล่างเป็นร้านกาแฟ เล่นๆ อยู่พนักงานเดินมาพูด เสิร์ฟกาแฟหน่อยครับ ซึ่งจังหวะนั้นเป็นจังหวะที่ตลกที่สุดในโชว์ (หัวเราะ) ที่เหลือที่คิดมุกมาไม่เวิร์ค เพื่อนเดินมาตอนจบ กอด เราร้องไห้เลย ที่ไม่ดีเป็นเพราะไม่มีประสบการณ์ และซ้อมไม่พอ


การเป็นพิธีกรมาก่อนจะพบว่าเมื่อเล่นมาเรื่อยๆ เราจะสนุกกับการมีคนให้เราแซวมากกว่าเราเล่นตัวคนเดียว เพราะธรรมชาติเราเป็นพิธีกร คือดำเนินรายการผ่านคนอื่นๆ ผ่านหัวข้ออื่นๆ แล้วเราประคองเรื่องราวให้จบไป แต่เราเป็นทั้งคนดำเนินรายการ และเป็นหัวข้อซะเอง มันทำให้เราไม่ชิน เราถนัดที่จะอิมโพไวท์กับคน แต่พออิมโพรไวท์เอง เรากลับพบว่ามันยาก จะสังเกตว่าคนที่มีทักษะเล่นละครเวทีจะเล่นสแตนด์อัพได้ดี จะมีตัวละครในหัว เพราะเอาบทไว้ที่ตัวเองและเล่าเรื่อง


ถึงจะเป็นแบบนั้นการเล่นครั้งแรกก็เป็นพลังงานที่ดี

ความตลกคืออะไร

(เงียบคิดนาน) เออ ตอบยากว่ะ


(เงียบคิด) เราว่ามันคือ...


(เงียบคิดนาน) จะตอบว่าอะไรดีวะ (หัวเราะ)


ความตลกมันคือ สิ่งที่เราได้เห็นตรรกะอะไรผิดเพี้ยนที่พอรับได้


เช่น ถ้าเห็นคนลื่นล้มแล้วขำๆ ดี แต่ถ้าหัวแตกตายคงไม่โอเค มันก็เป็นอารมณ์ขัน แต่ก็มีความเป็นโศกนาฎกรรมอะไรของมันอยู่ มักจะเป็นเรื่องบิดเบี้ยว ผิดเพี้ยนบางอย่างที่พอรับได้ แล้วก็รู้สึกตลก สนุก มันเลยเป็นการหักมุม ผิดตรรกกะ พาเราหลงทางแล้วพากลับมาในทางที่เซอร์ไพรส์


คือมันเป็นความสนุกในตรรกกะบิดเบี้ยวบางอย่างที่เราโอเคกับมัน



แฟกส์

ก่อนมาเริ่มเล่นสแตนด์อัพคอมเมดี้ทำงานอะไรมาก่อน

ตอนนั้นยังเรียนอยู่ปี 4 ก่อนที่มาเจอพี่ยู เห็นพี่ยูโพสต์ว่า จะทำสแตนด์อัพ เป็นโปรเจ็คที่อยากทำมานาน อารมณ์แบบอีลอน มัสก์จะปล่อยจรวด ซึ่งตอนนั้นเป็นเฟรนด์ในเฟสที่ก็ไม่รู้ว่าแอดกันจากไหนยังไง เห็นโพสต์นั้นแล้วกระตุกต่อม


จำได้ว่าตอนเด็กอ่านหนังสือพี่แทนไท ประเสริฐกุล แล้วแกชอบตลกฝรั่ง แล้วเราดันชอบแก พอแกพูดถึงก็สงสัยว่ามันคืออะไร แล้วก็ไปหาตลกฝรั่งดูบ้าง จริงๆ เพิ่งมาคิดเหมือนกันว่า จุดเริ่มต้นมาตั้งแต่มัธยม ซึ่งเซนต์ของฝรั่งคนละแบบกับคนไทย มันจะตลกจนขำเสียอาการ พอมาช่วงเรียนจบได้อ่าน นิวยอร์คเฟิร์สไทม์ ของพี่เบ๊น ที่เขียนถึงนักแสดงตลก อารมณ์เดีกับที่เคยอ่านพี่แทนไทเลย คือสงสัย อะไรวะ เลยเปิดยูทูปดู พอดูแล้วก็ โห มีแบบนี้ด้วยเหรอวะ ด้วยความทำงานครีเอทีฟ เลยสนใจในแง่ความคิดของมันมากกว่า


ก็เลยคอนเน็กกับที่พี่ยูโพส ปัง ทักแกไปเลยว่า อยากทำ ไม่ได้คิดว่าจะไปทำอะไร ไปเป็นเด็กเก็บตั๋วก็ได้ อยากรู้กระบวนการทำ แค่สนใจทำไมอยู่ๆ มีคนทำแสนด์อัพที่ไม่ใช่พี่โน้ส อยากรู้ว่าทำยังไง พอไปเจอพี่ยู ก็ได้รู้ว่า พี่ยูก็ไม่รู้ว่าทำยังไงเหมือนกัน (หัวเราะ) สุดท้ายก็ไปช่วยพี่ยูเขียนบท

มาเริ่มเล่นสแตนด์อัพคอมเมดี้ได้ยังไง

มันมีตอนเขียนบทให้พี่ยูช่วงนึง ก็เล่าไอเดียให้แกฟังปกติ พี่ยูบอกว่า อันนี้กูเล่าไม่ได้ มึงต้องขึ้นไปเล่าเอง เลยเป็นสิ่งที่ทำให้ต้องออกมาเล่นเอง เพราะบางเรื่องพี่ยูไม่ได้เชื่อแบบนั้น


เช่น เรื่องไอเดียจัดๆ อย่าง เรื่องยกโต๊ะ พี่ยูเอาบทเราไปเล่า แล้วก็รู้สึกไม่เป็นตัวเอง คือการยกโต๊ะต้องยกสี่มุม ไม่รู้เป็นอะไรต้องมีสักมุมที่ไม่ได้ออกแรง จะเกิดความรู้สึก อะไรวะ โต๊ะมีสี่มุม คนที่เจอก็จะแบบ อ๋อ วันนี้หวยออกที่กู ซึ่งเดาไม่ได้ว่ามุมไหน นั่นก็แปลว่ามีมุมหนึ่งออกแรงสองเท่า เกี่ยวกับฟิสิกส์หรืออะไร เล่าเองจะเกิดความสงสัย ความอิน คนดูจะรู้สึกได้ ก็เลยเกิดความรู้สึกว่า ถ้าได้เล่าเองมันจะเป็นยังไงวะ มุกมันจะไปสุดที่ตรงไหน


บางคนชอบเล่าเรื่องตัวเอง อินกับการไปเจออะไรมา เล่าได้เป็นฉากๆ แต่ของเราคือพึ่งบทเลย รู้สึกว่าทำงานที่บทก็จบแล้ว คิดมันมาทุกๆ ดีเทล มีหน้ที่เอาบทมาส่งต่อ ตอนแรกๆ ไม่ได้คิดว่าจะต้องเล่นกับคนดูอะไรด้วยซ้ำ ให้น้ำหนักกับบท ดีไซด์มากระทั่งจังหวะไหนต้องพูดสั้น จังหวะไหนต้องพูดยาวๆ เหมือนคิดมาหมดแล้ว มันเลยเหมือนต้องขึ้นไปเล่ามากกว่าที่จะเล่นกับคนดูอย่างเดียว ต้องแสดงในส่วนของเราด้วยว่า ตอนนี้เสียงดังเพราะโกรธ หรือตรงไหนกระชับ คิดมาหมดแล้ว เพราะดีไซค์มาแล้ว ตอนเขียนคือคิดว่าตัวเองเป็นคนดู ตรงนี้คนดูน่าจะฟังก่อนหน้ามาจนเบื่อ เลยต้องสั้น แล้วก็ลงเวที


การเขียนบทเลยสามารถรีเช็คได้แล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้นหน้าเวที แต่ว่าบทนี้เอาไปให้คนอื่นเล่นก็ไม่ได้นะ เพราะไม่ได้เชื่อแบบเรา เราเชื่อในบทตัวเองมาก ชอบความเป๊ะ ไม่อยากให้อะไรมายุ่งกับจังหวะด้วยซ้ำ บางทีไม่อยากทักทายคนดูด้วย (หัวเราะ)

ขึ้นเล่าครั้งแรกสุดบทเวทีเป็นยังไง

ไม่รู้สึกอะไรเลย ตื่นเต้นนิดหน่อย ได้ยินมาว่าทุกคนจะตื่นเวที แต่เราไม่เลย เคยเป็นมาตั้งแต่เด็ก ทุกคนจะมองว่าเราเป็นคนแบบไม่ค่อยชอบการพรีเซนต์อะไร แต่การขึ้นเวทีไม่เคยตื่นเลย ก็อยู่บนนี้แล้ว คือตอนเด็กมีโอกาสได้ขึ้นเวทีโดยบังเอิญ เพราะร้องเพลงนายขนมต้มได้ (หัวเราะ) เลยกลายเป็นความสามารถพิเศษ เพราะไม่มีใครร้องเพลงนี้ได้ ครูก็ชอบจับขึ้นเวที ให้ไปร้องหน้าชั้น มาค้นพบตอนโตว่าตัวเองเสียงเหี้ยมา แล้วตอนนั้นเค้าชอบอะไรตอนเราร้องเพลง (หัวเราะ)


พอเริ่มมาแบบนั้นตั้งแต่เด็ก เลยมีความคิดว่า ก็เคยขึ้นเวทีมาแล้ว การขึ้นเวทีเลยไม่ตื่นเต้นมาก อารมณ์แบบรู้หน้าที่ตัวเอง ไม่ได้มีหน้าที่คิดเรื่องอื่น มีหน้าที่คือเล่าเรื่อง เล่าบทที่เขียนมาออกไป น่าจะเป็นคนชอบทำบท เลยอินกับมัน แล้วก็ขึ้นเวทีมาแชร์ความอินนี้ออกไป

ความตลกคืออะไร

(เงียบคิดนาน) โห ใหญ่โตมากนะ


สิ่งที่คิดตอนนี้คือ เวลาเราทำอะไรมันจะมีตรรกกะอะไรบางอย่าง ตลกสำหรับเราคือ อะไรก็ได้ที่ไม่เมกเซนต์ แต่ทำให้เรื่องนั้นน่าสนใจ เป็นมุมใหม่ของเรื่องนั้น คืออะไรก็ได้ที่ทำมให้มองสิ่งนั้นใหม่ โดยที่ก็เห็นมาทุกวัน พลังของมันคือ ทำให้สิ่งที่อยู่ตรงหน้า จู่ๆ ก็ไม่เมกเซนต์ขึ้นมา มันมีมุมนี้ในเรื่องนี้ได้ด้วยเหรอวะ ไม่แคร์เรื่องความไม่เมกเซนต์ เรื่องนี้ไม่เมกเซนต์ใช่มั้ย ชอบ ยิ่งไม่เมกเซนต์ยิ่งดี



คังโป้ย

ก่อนมาเล่นสแตนด์อัพคอมเมดี้ ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น ทำอะไร

ถ้าย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น ก็อยู่ในท้องแม่ (ผู้สัมภาษณ์: ไกลไป) (หัวเราะ) ก็เป็นนักแสดงอิสระ ทำโฆษณา ซีรี่ส์ ทำละครเวที

เข้ามาเริ่มเล่นสแตนด์อัพได้ยังไง

มีวันนึงลองไปทำงานประจำ เพราะไม่เคยทำมาก่อนเลยในชีวิต ช่วงปี 2018 ก็รู้ว่าพี่ยูทำอยู่แล้ว ก็ไปดูเค้าเล่น ก็อยากลอง ขอเล่นบ้าง คือส่วนตัวตอนเป็นเด็กๆ อะไรที่เป็นงานเบื้องหน้าจะชอบหมด สร้างสีสันให้เพื่อนในวง ทำอะไรตลกๆ ชอบที่จะทำให้คนอื่นหัวเราะ


แล้วเราก็เรียนจบละครมา ป.โท แล้วก็เห็นว่าการแสดงน่าจะไปกับสแตนด์อัพคอมเมดี้ได้ มันคือศาสตร์เดียวกัน คนละวงกลมเฉยๆ แต่อยู่ใต้ร่มเดียวกัน ความเหมือนคือ ต้องอยู่กับปัจจุบัน เวลาเล่นละครมันต้องอยู่กับปัจจุบัน ต้องอยู่กับสถานการณ์และคู่ตรงหน้า อยู่กับตัวละคร แสตนด์อัพก็เหมือนกัน เล่าให้คนดูฟังในที่ตรงนั้น ถ้าเตรียมเรื่องมาจากบ้านแล้วไม่แคร์คนดูเลย มันเหมือนมีกำแพงที่สี่มาปิดระหว่างเรากับคนดู อันนี้ไม่เวิร์ค อยู่กับคนดู อยู่กับปัจจุบัน อันนี้คือสิ่งที่เหมือนกัน


สมมุติเล่นสแตนด์อัพแล้วใช้ศาสตร์การแสดงมูฟเป็นตัวละครอื่นที่พูดถึง สมมุติเล่าเรื่องแม่ ก็ไปเป็นแม่ ทำเสียงเป็นแม่ คาแร็คเตอร์เป็นแม่ เพิ่มความน่าสนใจให้เรื่องที่เล่า อันนี้จะใช้เทคนิคการแสดงเข้ามาช่วย เป็นเครื่องมือ แต่เอาจริงๆ ไม่ต้องเรียนการแสดงมาก็เล่าเรื่องให้อย่างสนุกสนานได้ แต่เผอิญเรามีเครื่องมือการแสดง ก็เลยใช้เยอะเป็นพิเศษ


ทีนี้พอเห็นว่าสแตนด์อัพคอมเมดี้มันเป็นสิ่งใหม่ ด้วยความเป็นคนชอบลองสิ่งใหม่ ก็เลยลองเล่นดู

เล่นแสตนด์อัพครั้งแรกเป็นยังไง

เวทีแรกเป็นวันที่เค้าซ้อมกัน แล้วอยากลอง ก็ไปขอลอง พี่ยูก็บอกว่า เอาเลยเว้ย ก็มีคนที่จะเล่นในงานนั่นแหละดูกัน แล้วเรื่องแรกที่เล่าเป็นเรื่องเห็นเพื่อนชักว่าวให้กันในค่ายลูกเสือ แล้วเล่าออกมา มันเหี้ยมาก เพราะไม่ได้ใส่ศิลปะเข้าไปในนั้นเลย เล่าไปตรงๆ เล่าว่าชักว่าวกัน น้ำว่าวแตก อมควยกัน นึกว่าจะฮา ไม่ฮา ทุกคนเหวอแดกหมดเลย นี่คือครั้งแรก แต่ไม่เฟลนะ เพราะเราไม่ได้เตรียมตัวมาเลย เล่าอะไรก็ไม่รู้


ก็คิดว่า ยังไม่เข้าใจการเล่นสแตนด์อัพมากพอ คือแค่อยากขึ้น ไม่ได้เขียนบทดีๆ ไม่รู้ว่าจะใส่มุกยังไง ไม่ได้ซ้อม เหมือนเริ่มทำงานอาหาร ครั้งแรกไม่อร่อยหรอก ก็ผิดพลาดไปก่อน เราใช้เวลาอยู่พักนึงกว่าจะเจอทางของตัวเอง


แต่ครั้งแรกที่มีคนดูจริงๆ คืองาน A Katanyu and Friends จัดที่ Live Lounge เล่นต่อจากน้าเน็ก แล้วเป็นช่วงพักพอดี เล่าเรื่องที่มาทำงานกับพี่ยูนี่แหละ เล่าไป แล้วมันมีเสียงฮาขึ้นมาคนนึงเพราะอะไรไม่รู้ แล้วเราก็พูดว่า โอโห ตั้งแต่เล่นมา มีเสียงฮาครั้งเดียว แล้วคนก็ขำกันที่เราพูดคำนี้ออกมา ตอนนั้นรู้สึกว่าสนุก ต่อให้เราเล่นไม่ฮา แต่ววินาทีที่ยืนอยู่บนเวทีมันมีความสุขแบบตอนเล่นละครเวที จับตรงนี้ได้ว่า เออ เราน่าจะเล่นต่อได้ เริ่มคลำทางของตัวเองได้


หลังจากนั้นตอนมีงานเปิดตัวบริษัทพี่ยู ก็มาเหมือนเล่นแร็พ ฟีลด่าคนนู้นคนนี้ไปเรื่อย สิ่งที่ได้จากวันนั้นคือ การที่เราสนุกกับตรงนั้น สนุกกับเรื่องที่เล่า แล้วคนดูฟีลได้ สนุกกับเรื่องที่เล่าเมื่อไหร่ คนดูรู้สึกได้เอง ขำไม่ขำไม่รู้ แต่ถ้าเราจริงใจกับเรื่องที่เล่า มันจะดี

ความตลกคืออะไร

บางคนบอกว่า คือการที่คนดูรู้สึกผิดจากสิ่งที่เค้าคาด เราว่ามีอีกมุม เค้าคาดหวังว่าจะเจออันนี้ แล้วแม่งเจอ แล้วแม่งใช่ แล้วมันก็เลยตลก


สมมุติว่า เล่าเรื่องนึงอยู่ แล้วคนดูรู้สึกถึงกลิ่นแหม่งๆ ว่าคนเล่าจะเจอผี แล้วเจอผีจริงๆ มันก็จะตลก กูบอกแล้วว่าจะต้องมีผี เหมือนเค้าคาดหวังว่าจะได้เจออะไร พอเค้าเจอ เค้าก็จะฟินของเค้าไง เดี๋ยวไอเหี้ยนี่มันจะต้องทำแบบนี้ใช่มั้ย ไอเหี้ย มึงทำจริงๆ (หัวเราะ)


อีกอย่างก็คือ การที่คนดูเห็นคอมเมเดี้ยนยอมรับความชิบหายของตัวเองบนเวที ก็เป็นความตลก ล่าสุดมั้ง เราก็เล่นมาเลย เล่าๆๆๆๆ ปั๊บ มุกที่คิดว่าฮา ดันไม่ฮา เราก็เลยพูดคำเดียวว่า เงียบ พอพูดเงียบปุ๊บ คนก็ฮา เพราะว่าที่เล่นไปมันเงียบ แต่คำว่าเงียบ ไม่ได้คิดมา แต่พูดเพราว่ามันเงียบจริงๆ มันคือความจริงใจของคอมเมเดี้ยน ที่มีต่อคนดูตอนนั้น แล้วเค้าก็รู้สึกว่า มึงยอมรับแล้วสินะว่าเงียบ ก็เลยขำ (หัวเราะ)


ก็มันเงียบจริงๆ นี่หว่า (หัวเราะ)




โนะ นนทบุเรี่ยน

ก่อนหน้าทำสแตนด์อัพคอมเมดี้ ทำอะไรมาก่อน

ศิลปิน ทำงานศิลปะ ทำแบรนด์ ขายของ เอาของที่ทำจากเรซิ่นไปขายตามที่ต่างๆ ช่วงแรกๆ งานแฮนด์เมดมันเฟื่องฟูมาก ตอนสมัยเป็นนักศึกษาขายดีมาก แต่เราเรียนไม่จบนะ


งานเรซิ่นที่เอามาขายก็ได้วิชามาจากพ่อ คนที่เกิดในครอบครัวศิลปะอุปกรณ์มันครบไง มีอะไรของเค้าเยอะแยะไปหมด แต่ช่วงวัยเด็กก็ไปหาอย่างอื่นทำก่อน ไม่ได้อยากเหมือนพ่อ เราเชื่อว่าหลายๆ คนไม่ได้อยากตามรอยพ่อขนาดนั้น อยากไปตามทางอื่นบ้าง แต่สุดท้ายก็หนีไม่พ้น เลือดข้นกว่าน้ำ อะไรสักอย่าง ใช่มั้ยวะ (หัวเราะ)

เริ่มมาทำสแตนด์อัพคอมเมดี้ได้ยังไง จากการทำสายงานศิลปะในทีแรก

คนทำงานศิลปะจะมีความพิเรนด์กว่าคนอื่นประมาณนึง


ด้วยความที่ต้องการนำเสนอในอีกมุมมองหนึ่งเสมอ เหมือนศิลปะมันคือการแสดงออกถึงอีกแบบความคิด อีกอย่างนึง ต่อให้เดินในทางเดียวกัน แต่คนทำงานศิลปะจะพยายามทำอะไรสักอย่างที่แสดงออกถึงอีกแนวคิดหนึ่งเสมอ เป็นธรรมชาติของคนทำงานศิลปะ


วิเคราะห์ส่วนตัวคือ กลไกทางการทำงานไม่เหมือนคนอื่น ไม่ได้เป็นลูป ไม่ได้เป็นระบบ เลยมีแนวความคิดอีกอย่างที่ไม่ได้คิดตามครรลอง เกิดจากหนังสือส่วนหนึ่ง เพราะพ่อจะเป็นคนที่มีหนังสือเยอะมาก เยอะมาก ในยุคที่หาอะไรสักอย่างจะหาจากหนังสือ แต่ก็ส่วนใหญ่จะเป็นภาษาอังกฤษ ยังไม่ค่อยมีแปล ดูภาพเอา ได้สิ่งนี้มาแล้วเราเองก็เริ่มขบถ ว่าทำไมการทำสแตนอัพคอมเมดี้มันถูกผูกขาด ทำไมเราถึงอยู่กับคนๆ เดียว อันนี้ไม่ได้บอกใคร การที่เข้ามาทำ เพราะไม่ได้อยากให้มีแค่คนๆ เดียว คิดแบบนี้เลย มันต้องมีทางเลือกอื่นบ้าง ต้องมีคนอื่นมาพูดบ้าง คิดแค่นั้นเลย ก็เลยพยยายามออกแบบโชว์ เอาเพื่อนที่ทำวงดนตรีมาเล่น แล้วก็มีพาร์ทของอิมโพรฟ ให้คนที่มาดูเขียนคำ แล้วก็จับฉลาก แร็พสด เป็นแรพอีสนนท์ ล้อเลียนแรพอีสนาว พยายามออกแบบเรื่องอยู่ตรงข้ามกับตลาดเดิมที่มีอยู่แล้ว เรื่องแบบที่ฝั่งเค้าเล่าไม่ได้ ผสมแบล็คคอมเมดี้ เดอตี้โจ๊ก เสียดสีหนักๆ


จำได้ว่าครั้งแรกก้าวร้าวมาก ใช้ความสามารถที่ตัวเองมีด้วย ล้อเลียนเสียง ตอนนั้นเล่นครั้งแรก อายุ 27 ตอนนั้นอาชีพนักพูดเป็นที่นิยมมาก มีบริษัทนึงที่ทำโชว์ให้กับนักพูดหลายคน รู้ว่าเราทำสิ่งนี้ได้เพราะ เราเป็นคนอ่าน เป็นคนจด มีสังคม กินเหล้ากับเพื่อนวงใหญ่ แล้วเราพูดอะไรก็ขำ แล้วก็นึกว่าคนอื่นก็ต้องขำได้ด้วยดิ ก็เอาเรื่องที่พูดในวงเหล้าแล้วขำ เก็บสะสมมา แล้วก็เอามาเล่าในโชว์

โชว์สแตนด์อัพคอมเมดี้ครั้งแรกสุดที่จัดขึ้นมาเอง เป็นยังไง

มันดีอยู่แล้ว เพราะมากกว่า 80% เป็นเพื่อน เป็นคนรู้จัก เป็นคนในแวดวงสังคม เราไปขายของ ก็เป็นคนที่ขายของด้วยกับเรา คนที่อยู่ร้านเหล้าเหมือนกับเรา มันสำเร็จได้เพราะขี้โกง เป็นเพื่อนซะเยอะ


แต่งานถัดมาก็เป็นงานที่มีคนแปลกหน้ามาดูเยอะ น่าจะที่ช่างชุ่ย ช่างชุ่ยเป็นครีเอทีฟสเปซ เลยฉีกมาก เค้าจะเลือกคนมาสัมภาษณ์ เค้าจะเอาคนพิเศษ หาดีเอ็นเอของคนที่ไม่ปกติมารวมที่ช่างชุ่ย เราเข้าสัมภาษณ์โดยเล่นแสตนด์อัพคอมเมดี้ให้คุณลิ้มฟัง เพื่อจะเอาร้านเรซิ่นไปออกบูทให้มีหน้าร้านที่ช่างชุ่ย แล้วพอคุณลิ้มเห็นเค้าก็เลยให้เราหนึ่งแมตส์ไปเล่น เพราะมันจะมีงานที่เอาสปีกเกอร์เก่งๆ มาพูดเป็นประจำอยู่แล้ว อยู่ในแคมเปญ รูระบาย ของช่างชุ่ย

คนที่เป็นคอมเมเดี้ยนต้องมีอะไรที่เหมือนกัน

เราตั้งกฎนี้ว่า มโนแจ่ม เราเรียกสิ่งนี้ว่า ยุ้ย ความยุ้ยมันจะมาช่วงที่เรามีวัตถุดิบบางอย่างที่เรียบเรียงในหัวแล้วมโนมันแจ่ม ภาพมันชัดว่าคนจะขำ เราตั้งชื่อว่ายุ้ย เราไปเรียนการแสดงมา เค้าเรียกสิ่งนี้ว่า พระมเหสี พระมเหสีคือคลังของวัตถุดิบที่มันพรีเซนต์ออกมาจากการทำงานบางอย่าง ฝั่งนักแสดงค้าเรียกว่าพระมเหสี ของเราเรียกยุ้ย คือความมโนแจ่มบางอย่าง ใช้ตรงนี้ในการทำบท

ความตลกคืออะไร

(เงียบคิดนาน) เป็นหนึ่งในสิ่งกระทบใจที่ไม่ได้กระทบปกติ แต่เป็นการกระทบที่แบบ อ้อมเข้าไปเสียบปักข้างหลังที่ขั้วหัวใจอีกทีนึง


ความตลก หรือความขบขันเป็นเรื่องที่ทุกคนรู้อยู่แล้ว หรือโดนเหมือนกันอยู่แล้ว แต่สิ่งที่มันทำให้เกิดความขำขึ้นมาอาจจะเป็นเรื่องของดีเทล หรืออีกทรรศนะนึง หรือการอ้อมฆ่า เพราะฉะนั้น เรื่องที่เราขำเป็นเรื่องที่เรารับรู้อยู่แล้ว แต่มันมาในอีกทางนึงก็ได้ หรือดีเทลที่เค้าให้มันมากกว่าที่เราเห็น ต้องเกิดการสังเกต ถึงได้พยายามบอกตลอดว่า ดีเทลในเนื้อเรื่องคือพระเจ้าสำหรับคนเล่าเรื่องตลก ดีเทลคือสิ่งที่ทำให้มุกมันทำงาน


และยังย้ำเสมอว่าดีเทลคือพระเจ้า ไม่ว่าจะมีทฤษฎีอะไรมา สิ่งที่เหมืนเดิมคือดีเทลคือพระเจ้า แวดวงศิลปะก็ใช่ แวดวงหนังใช่หมด ยังทำงานอยู่เสมอ


คุยมีเดี้ยน จะพาไปคุยกับคอมมีเดี้ยนคนไหนอีก โปรดติดตามตอนต่อไป...


ดู 195 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page